บริษัทสวัสดิการดีขนาดนี้ทำไมพนักงานยัง Burnout? ขึ้นเงินเดือนให้แล้วแต่ทำไมยังลาบ่อย? โบนัสก็เยอะทำไมพนักงานยังลาออก? สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกบริษัทกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เพราะรูปแบบการทำงานและเป้าหมายในการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วย Employee Engagement
แล้ว Employee Engagement คืออะไร? เราจะสร้าง Employee Engagement ที่ดีต่อพนักงานได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบให้คุณแน่นอน
Table of Contents
Employee Engagement คืออะไร?
Employee Engagement คือ การมีส่วนร่วมหรือความผูกพันของพนักงานที่มีต่องานและองค์กร เป็นการแสดงออกถึงการให้ความร่วมมือกับกิจกรรมในองค์กรอย่างสมัครใจ ทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะมุ่งมั่นทุ่มเทต่อค่านิยม (Company Values) และเป้าหมายทางธุรกิจหลักขององค์กร (Company Goals) จนกลายเป็นความผูกพัน โดยพนักงานจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ตลอดจนรู้สึกในการเป็นเจ้าขององค์กรร่วมกัน ก่อให้เกิดแรงพลักดันให้องค์กรก้าวสู่ความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ และนำมาสู่ความจงรักภักดีต่อองค์กรในที่สุด
เมื่ออ่านถึงตรงนี้คุณอาจจะคิดว่า Employee Engagement สามารถสร้างได้ด้วยการกำหนดเป้าหมายขององค์กรที่ชัดเจน แต่ความจริงแล้วการสร้าง Employee Engagement ที่ดีต้องคำนึงถึงเป้าหมายชีวิตของพนักงาน (Life Goals) ด้วย เพราะฉะนั้นหากองค์กรไหนสามารถออกแบบเป้าหมายขององค์กรควบคู่ไปกับการตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตของพนักงานได้เป็นอย่างดีก็จะสามารถสร้างพนักงานที่มีความสุข และสร้างทีมงานที่แข็งแกร่งพร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรอย่างสม่ำเสมอได้ ถือได้ว่า Employee Engagement คือหนึ่งในวิธีการและเป็นหนทางสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรอย่างแท้จริง
ทำไม Employee Engagement ถึงสำคัญต่อธุรกิจในยุคปัจจุบัน
ปัจจุบันการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ Employee Engagement มีบทบาทต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยงานวิจัยด้านการมีส่วนร่วมของพนักงานของ Gallup ได้อธิบายประโยชน์ของ Employee Engagement ไว้ดังต่อไปนี้
1. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน (Productivity Improvement)
องค์กรที่พนักงานพร้อมมีส่วนร่วมและมีความผูกพันต่องานและองค์กรจะมีประสิทธิภาพการทำงานสูงกว่าพนักงานทั่วไปถึง 18% นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นให้พนักงานเต็มใจสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมากกว่าเดิม 2 เท่าอีกด้วย
2. ช่วยลดอัตราพนักงานลาออกจากงาน (Higher Employee Retention)
หากองค์กรให้ความสำคัญต่อพนักงานโดยการรับรู้ถึงความพยายามของพวกเขา และช่วยพลักดันให้พนักงานเติบโตในสายอาชีพอย่างมั่นคงจะส่งผลให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับงานที่ทำและพยายามทุ่มเทให้กับการทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรและพนักงานนี้เองที่ช่วยลดอัตราพนักงานลาออกได้ถึง 43% ในองค์กรที่มีอัตราการลาออกต่ำ และ 18% ในองค์กรที่มีอัตราการลาออกสูง
3. ช่วยสร้างกำไรให้บริษัทมากขึ้น (Improve Profit)
พนักงานที่มีความผูกพันกับงานที่ทำและมีส่วนร่วมกับทีมจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้องค์กรสามารถสร้างผลกำไรให้ได้สูงถึง 23% เมื่อเทียบกับบริษัททั่วไป
4. ลูกค้าพึงพอใจในการบริการมากขึ้น (Improve Customer Satisfaction)
พนักงานที่มี Employee Engagement ที่ดีมักจะมีความสุขในการทำงาน นอกจากนี้พวกเขายังส่งต่อความสุขไปยังลูกค้าผ่านการบริการที่ดีเยี่ยม ในขณะเดียวกันพวกเขาจะกระตือรือร้นในการดึงดูดลูกค้าใหม่อยู่เสมออีกด้วย โดยจากงานวิจัยพบว่าองค์กรที่มี Employee Engagement ที่ดีสามารถเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้มากถึง 10%
ถึงตรงนี้คุณคงเข้าใจแล้วว่า Employee Engagement คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร? เพราะฉะนั้นเรามาดูเคล็ดลับที่จะทำให้พนักงานมีความสุข ทุ่มเทกับการทำงานอย่างเต็มที่ และอยากร่วมงานกับองค์กรไปนานๆ ในหัวข้อถัดไปกันเลย
5 เคล็ดลับมัดใจพนักงานด้วยการสร้าง Employee Engagement ที่ดี
1. การสื่อสารต้องดี และประสิทธิภาพ (Sufficiency Communication)
การสื่อสารนับว่าเป็นหนึ่งในเคล็ดลับของความสำเร็จในการสร้าง Employee Engagement เพราะพนักงานในองค์กรที่มีการสื่อสารที่แข็งแกร่งจะทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าพนักงานในองค์กรที่ขาดการสื่อสาร ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดระหว่างบุคคล การทำงานผิดพลาด และการเลื่อนกำหนดเวลาส่งงาน
โดยองค์กรควรเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างกระบวนการ Onboarding ที่ราบรื่น ซึ่งเป็นปราการด่านแรกที่สามารถสร้างความสนใจจากพนักงานได้ทันทีที่เข้าทำงาน ไปจนถึงการสื่อสารระหว่างพนักงานในองค์กร
ในแต่ละวัน โดยเลือกช่องทางการสื่อสารให้เหมาะสมและเข้าถึงง่าย เช่น การใช้แพลตฟอร์มที่ช่วยให้พนักงานสามารถแชทและวิดีโอถึงเพื่อนร่วมงานได้ทันทีและทุกที่ ทำให้การทำงานร่วมกันราบรื่นยิ่งขึ้น
2. หมั่นชื่นชมและให้รางวัลในทุกๆ ความสำเร็จ (Praise and Reward)
พนักงานจะรู้สึกภาคภูมิใจ กระตือรือร้น หลงใหล และมีกำลังใจในงานที่ทำก็ต่อเมื่อพวกเขารับรู้ว่าความพยายามของพวกเขามีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อองค์กร เพราะฉะนั้นไม่ว่าผลงานของพวกเขาจะเล็กน้อยเพียงใดก็ควรได้รับการยกย่อง โดยอาจเริ่มต้นจากการชื่นชมด้วยคำว่า “ขอบคุณ” ไปจนถึงการให้รางวัลที่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน เช่น ค่าตอบแทน สวัสดิการ การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในออฟฟิศ และการให้รางวัลพนักงานดีเด่นประจำปี
การชื่นชมและให้รางวัลยังสำคัญมากๆ ต่อพนักงานที่ Work from Home เพราะบ่อยครั้งที่ไม่มีใครมองเห็นความพยายามของพวกเขา เพราะฉะนั้นองค์กรควรมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ภายในองค์กร พร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและชื่นชมเพื่อนร่วมงานได้แบบเรียลไทม์
3. สร้าง Teamwork ที่แข็งแกร่งและสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ (Teamwork & Working Environmental)
ไม่มีพนักงานคนไหนอยากทำงานในองค์กรที่มีสิ่งแวดล้อมที่แย่ ซึ่งกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ หรือมีเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นองค์กรจึงควรสร้างสถานที่ทำงานที่มีความสุขและพนักงานมีส่วนร่วมกันอย่างแท้จริง โดยใส่ใจสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานเพื่ออำนวยความสะดวก และเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงสนับสนุนระบบการทำงานเป็นทีม เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมมือกัน ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน ก่อให้เกิดความสามัคคีซึ่งเป็นพลังพลักดันให้องค์ก้าวหน้าและแข็งแกร่งขึ้น
4. สร้างพื้นที่เพื่อให้คนเก่งได้เติบโต (Create Opportunities For Growth)
ถึงแม้ว่าองค์กรของคุณจะมีขนาดใหญ่ มีผลกำไรต่อปีมหาศาล และพนักงานมีความสุขในการทำงาน แต่ถ้าพวกเขาเริ่มรู้สึกมองไม่เห็นอนาคตและความก้าวหน้าของเขาในองค์กรนี้อีกต่อไป ก็อาจทำให้คนเก่งๆ หลายๆ คนตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อไปหาโอกาสที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นการส่งเสริมและมอบพื้นที่ของการเติบโตในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการจัดการฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะให้กับพนักงาน การให้รางวัลพนักงานที่ทำหน้าที่ของตนได้ดี รวมไปถึงการให้โอกาสพนักงานได้ทดลองสลับหน้าที่หรือย้ายแผนกเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
5. สร้างตัวเลือกให้พนักงานได้ทำงานยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น (Create Flexible and Remote Work Options)
ปัจจุบัน Work from Home กลายเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหนึ่งในผลประโยชน์ในการจ้างงาน เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่เคยชินกับการทำงานระยะไกลในช่วงที่เกิดโรคระบาด ทำให้เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติพวกเขายังคงต้องการทำงานระยะไกลเพื่อรักษาความยืดหยุ่นในการทำงาน และรักษาสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life Balance) ต่อไป โดยเฉพาะพนักงาน Gen Z หรือ Millennials ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 75% ของพนักงานทั้งหมดในปี 2030 มีแนวโน้มต้องการทำงาน Work from Home หรือตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นมากกว่า Gen อื่นๆ อีกด้วย
สรุป
ไม่แปลกใจเลยหากมีคนเปรียบเทียบว่า Employee Engagement คือกุญแจสำคัญในการสร้างองค์กรให้ยั่งยืน เพราะทุกองค์กรมีพนักงานเป็นแรงขับเคลื่นให้องค์กรพัฒนาต่อไปได้ หากพนักงานมีความสุขในการทำงาน ไม่เกิดอาการ Burnout และเห็นคุณค่าตนเองในการทำงาน ก็จะช่วยให้องค์กรสามารถรักษาพนักงานเก่งๆ ให้ทำงานในองค์กรต่อไป นำมาสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และสร้างผลกำไรในอนาคต
ซึ่งในปัจจุบันก็มีเครื่องมือมากมายที่ช่วยให้องค์กรสร้าง Employee Engagement ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น แพลตฟอร์มที่ช่วยให้การติดต่อ และการทำงานภายในองค์กรเป็นเรื่องง่ายและไร้รอยต่ออย่าง True VWORK ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้พนักงานสามารถพูดคุย ประชุม และทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา รวมไปถึงสามารถมอบหมายงานและบริหารจัดการทีมจากระยะไกลผ่านแพลตฟอร์มเดียวได้อีกด้วย