หากบริษัทต้องการประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ แน่นอนว่าจะต้องมีการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จนั้น แต่จุดมุ่งหมายของความสำเร็จคืออะไร? และแผนปฎิบัติเพื่อประสบความสำเร็จนั้นมีอะไรบ้าง? สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสำคัญและต้องทำให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดเพื่อให้คนในบริษัทเห็นภาพชัดเจนและเข้าใจตรงกัน การตั้ง SMART Goal จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนบริษัทให้บรรลุเป้าหมายในการทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จัก SMART Goal ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งความหมายและประโยชน์ของ SMART Goal รวมไปถึงวิธีการทำ SMART Goal ของบริษัทกัน
Table of Contents
SMART Goal คืออะไร?
SMART Goal คือ การตั้งเป้าหมายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ โดยมีกรอบอ้างอิง (Framwork) เพื่อช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายและบรรลุผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย สิ่งที่ชี้เฉพาะ (Specific), สามารถวัดผลได้ (Measurable), มีความเป็นไปได้ (Achievable), สอดคล้องกับเป้าหมาย (Relevant), และมีระยะเวลาที่ชัดเจน (Time-based)
ทำไมบริษัทควรนำ SMART Goal มาปฏิบัติ
บางครั้งคุณอาจเคยเจอการตั้งเป้าหมายของบริษัทที่คลุมเครือและไม่มีทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเพิ่มผลประกอบการ หรือการขยายสาขาเพิ่ม ซึ่งการตั้งเป้าหมายที่ไม่มีกลยุทธ์นี้ส่งผลให้บริษัทพบกับความล้มเหลวมานับไม่ถ้วน ดังนั้นบริษัทจึงควรตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goal เพื่อช่วยให้คุณและทีมสามารถขัดเกลาแนวคิด รู้แนวทางปฏิบัติ และสามารถจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมไปถึงยังสามารถระบุจุดแข็ง-จุดอ่อนในการทำงาน และช่วยจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิผลอีกด้วย
นอกจากนี้ SMART Goal ยังช่วยส่งเสริมความโปร่งใสในการทำงาน ช่วยให้พนักงานทุกคนเข้าใจความรับผิดชอบของตนเอง และเมื่อพนักงานมีจุดโฟกัสที่ชัดเจนและสามารถติดตามความคืบหน้าได้แล้วก็จะมีแรงจูงใจในการทำงานมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
เมื่อรู้แล้วว่า SMART Goal มีประโยชน์อย่างไร ในส่วนถัดไปเราจะมาพูดถึงองค์ประกอบการตั้ง SMART Goal กันว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
องค์ประกอบ 5 ประการของ SMART Goal
1. S – Specific
เป้าหมายของคุณควรเป็นสิ่งที่ชี้เฉพาะ ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือ และมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์เฉพาะเจาะจง เพราะฉะนั้นก่อนตั้งเป้าหมายคุณควรตอบคำถามให้ได้ว่าคุณต้องการบรรลุผลลัพธ์อะไร และเพื่อช่วยให้คำตอบของคุณชัดเจนยิ่งขึ้น หลักการ 5W จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่คุณควรพิจารณาควบคู่ไปกับการกำหนดคำตอบของคุณอยู่เสมอ ซึ่งประกอบไปด้วย
- Who (ใคร) – ใครมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายนี้? คำถามนี้สำคัญมากหากคุณมีทีมงานเข้ามาเกี่ยวข้อง
- What (อะไร) – คุณต้องการทำอะไรให้สำเร็จ? ควรระบุได้อย่างแม่นยำและชัดเจน
- Where (ที่ไหน) – เป้าหมายนี้สามารถทำให้สำเร็จได้ที่ไหนบ้าง?
- When (เมื่อไร) – ช่วงระยะเวลาในการทำเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ โดยคุณควรมีกรอบเวลาอย่างชัดเจน
- Why (ทำไม) – ทำไมถึงต้องการทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จ?
ตัวอย่างการระบุเป้าหมายแบบ SMART Goal: แทนที่จะกำหนดว่า “บริษัทต้องการเพิ่มอัตราความพึงพอใจในการใช้บริการของลูกค้า” ควรเปลี่ยนมาเป็นเป้าหมายที่ SMART มากยิ่งขึ้นด้วยการกำหนดว่า “บริษัทต้องการเพิ่มคุณภาพการบริการลูกค้า ทั้งในด้านความรวดเร็วและความสุภาพของพนักงาน รวมไปถึงอบรมให้พนักงานเข้าใจในงานบริการของบริษัทให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราความพึงพอใจของลูกค้า 90% ภายในระยะเวลา 6 เดือน”
2. M – Measurable
SMART Goal จะต้องวัดผลได้ โดยต้องระบุวิธีการและเกณฑ์ในการประเมินความคืบหน้า เพื่อให้คุณและทีมสามารถติดตามผลงานได้ครบถ้วน ในขณะเดียวกันการวัดผลนี้ยังช่วยให้คุณและทีมมั่นใจได้ว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้สามารถจับต้องและทำให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้การประเมินความคืบหน้ายังช่วยให้คุณและทีมมองเห็นงานย่อยที่คุณหรือทีมต้องทำในจุดต่างๆ ด้วย
3. A – Achievable
SMART Goal ต้องเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่สามารถเป็นจริงได้ เพื่อกระตุ้นคุณและทีมให้คิดหาแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยคุณสามารถประเมินว่าเป้าหมายจะบรรลุผลได้หรือไม่จากระยะเวลาของเป้าหมาย งบประมาณ และความพร้อมของทรัพยากร
4. R – Relevant
เป้าหมายควรสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของธุรกิจ และสอดคล้องกับพันธกิจของบริษัท โดยการตั้งเป้าหมายที่ดีไม่ควรเป็นเพียงโจทย์ที่ต้องทำ แต่ควรเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้แก่บริษัทได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่คุณกำหนดเป้าหมายแบบ SMART Goal คุณควรคำนึงถึงความคุ้มค่าในการทำ จำนวนทรัพยากรและเวลาที่จะทำให้เป้าหมายออกมาสำเร็จ รวมไปถึงสถานการณ์ ณ ตอนนั้นว่าเหมาะสมที่จะลงมือทำหรือไม่ เช่น หากคุณต้องการเพิ่มยอดขาย 50% ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป้าหมายนี้ก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและไม่สร้างประโยชน์ใดๆ ให้แก่บริษัท
5. Time-based
การตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goal ควรมีกรอบเวลาที่ชัดเจน และเป็นระยะเวลาที่เป็นจริงได้ โดยต้องประเมินควบคู่ไปกับทรัพยากรที่คุณมี หากคุณไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เป้าหมายนั้นก็จะกลายเป็นเป้าหมายที่เลื่อนลอย คุณจะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ และจะกลายเป็นเป้าหมายที่ไม่สำคัญในที่สุด เพราะคุณไม่มีแรงจูงใจในการทำให้สำเร็จตามกรอบเวลา เพราะฉะนั้นการกำหนดกรอบเวลาในการทำจึงเป็นตัวช่วยพลักดันให้คุณกระตือรือร้นและรู้สึกต้องทำมันอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะส่งผลให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
เทคนิคการกำหนดกรอบเวลาแบบ SMART Goal: นอกจากจะกำหนดกรอบเวลาใหญ่ในการทำให้เป้าหมายบรรลุผลแล้ว คุณควรกำหนดกรอบเวลาเล็กๆ สำหรับเป้าหมายเล็กๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ด้วย เพื่อให้คุณสามารถติดตามผลการดำเนินการได้อย่างใกล้ชิด และมีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเป้าหมายใหญ่ของคุณต้องใช้เวลา 1 ปีในการบรรลุผล คุณควรกำหนดเป้าหมายเล็กเพิ่มเติมว่าภายใน 4 เดือน หรือ 8 เดือนคุณต้องทำอะไรให้สำเร็จก่อน
สรุป
SMART Goal ไม่ใช่แค่การตั้งเป้าหมายธรรมดาๆ แต่เป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ผ่านกระบวนการชี้เฉพาะเป้าหมาย การประเมินและการวัดผล การพิจารณาความสอดคล้องและความคุ้มค่า และการกำหนดกรอบเวลาแห่งความสำเร็จ
ซึ่งแน่นอนว่าการทำ SMART Goal ของบริษัทเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นจากการกำหนดหรือตัดสินใจของบุคคลเพียงคนเดียว เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการระดมความคิดจากคนในทีม และมีการประสานงานที่ราบรื่น ซึ่ง True VWORK ก็มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้เป็นอย่างดี โดยช่วยให้คุณและทีมแชทหรือวิดีโอคอลได้ตลอดเวลา บรอดแคสต์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างไม่มีสะดุด มอบหมายและติดตามสถานะการทำงานของทีมได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ อีกมากมายที่เป็นตัวช่วยให้คุณสามารถทำงานร่วมกับทีมได้อย่าง SMART อีกด้วย โดยคุณสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ True VWORK