ในยุคที่ข้อมูลเปรียบเสมือนน้ำมันซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล ทำให้ทุกบริษัทต้องการครอบครอง-ข้อมูลเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน แต่หากมีแต่น้ำมัน ไม่มีการกลั่นกรองให้กลายเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้งานได้จริง ข้อมูลเหล่านั้นก็ไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นบทความนี้เราจะพาคุณมารู้จัก Data Driven กลยุทธ์การนำข้อมูลมากลั่นกรองจนสามารถนำไปใช้ตัดสินใจขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้
Table of Contents
ทำความรู้จักกับ Data Driven กลยุทธ์ขององค์กรที่ตอบโจทย์ในยุคนี้
Data Driven คือ การนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์และตีความมาใช้ตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการองค์กร การวางแผนการทำการตลาด และการปรับรูปแบบธุรกิจในอนาคต โดยข้อมูลจากการทำ Data Driven จะมีประโยชน์ ใช้งานได้จริง และแม่นยำมากกว่าการใช้สัญชาตญาณหรือความคิดเห็นส่วนตัว
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยมากกว่าเดิม เพราะในแต่ละองค์กรก็มีการนำข้อมูลมาใช้ตัดสินใจทางธุรกิจอยู่แล้ว แต่ความจริงแล้วข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำมาใช้เป็นเพียงหลักฐานเพื่อยืนยันสมมติฐาน หรือยืนยันสัญชาตญาณของผู้ตัดสินใจเท่านั้น แตกต่างจาก Data Driven ที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์และกลั่นกรอง ซึ่งนอกจากจะเป็นหลักฐานยืนยันแล้วยังสามารถใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการตัดสินใจได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย Data Driven จึงสามารถใช้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจที่แม่นยำ
Data Driven ดีต่อองค์กรอย่างไร?
แน่นอนว่าองค์กรที่ใช้ข้อมูลเป็นหัวใจหลักในการตัดสินใจทุกๆ กิจกรรมภายในองค์กร มักก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในทุกด้านขององค์กร เพราะฉะนั้นเรามาดูประโยชน์หลักของ Data Driven กันว่ามีอะไรบ้าง
1. ด้านพนักงาน
Data Driven ช่วยให้ทุกคนในองค์กรสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผลมากยิ่งขึ้น โดยสามารถหาโอกาสใหม่ๆ จากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ รวมถึงสามารถสร้างระบบอัตโนมัติเพื่อให้พนักงานใช้ข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนหรือ Manual Work ลง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น
2. ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
Data Driven ช่วยให้ HR สามารถใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการสรรหาพนักงาน และควบคุมค่าใช้จ่ายในการรับสมัครพนักงาน นอกจากนี้เมื่อสรรหาพนักงานได้แล้วยังสามารถใช้ข้อมูลเพื่อมอบประสบการณ์การ Onboarding ที่ราบรื่น ซึ่งช่วยสร้างความประทับใจระหว่างพนักงานและองค์กรได้เป็นอย่างดี
3. ด้านการตลาด
Data Driven ช่วยประมวลผลลัพธ์ของข้อมูลโดยไร้ซึ่งอคติ ทำให้การตัดสินใจดำเนินกิจกรรมมีเหตุผลและจุดประสงค์ที่ชัดเจน นำไปสู่การเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า สามารถสร้างโซลูชันหรือประสบการณ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะ สร้างโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และเพิ่มกลุ่มลูกค้าที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์หรือองค์กรในที่สุด
4 กลยุทธ์การทำ Data Driven อย่างมีประสิทธิภาพ
ชัดเจนว่าการประยุกต์ใช้ Data Driven นั้นส่งผลในหลากหลายมิติ ทั้งในมุมของการตัดสินใจภายในองค์กร การบริหารทรัพยากรบุคคล ไปจนถึงในแง่ของการวางแผนการตลาด แต่เราจะใช้ข้อมูลทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร นี่คือ 4 กลยุทธ์พื้นฐานที่องค์กรของคุณสามารถทำได้
1. กำหนดวิธีการและจุดประสงค์ก่อนเก็บข้อมูล (Data Collection)
หลายองค์กรมีข้อมูลมหาศาล แต่หากข้อมูลที่มีอยู่ไม่ถูกต้อง มีอคติแฝงในข้อมูล หรือข้อมูลซ้ำซ้อนเนื่องจากเก็บข้อมูลแยกส่วนและไม่มีนโยบายการแชร์ข้อมูลระหว่างกันในองค์กร ข้อมูลเหล่านั้นก็ไร้ประโยชน์ กลายเป็นข้อมูลขยะที่ไม่มีมาตรฐาน เพราะฉะนั้นองค์กรจึงต้องปรับโครงสร้างการเก็บข้อมูลใหม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ และประหยัดเวลาในการนำไปใช้งานจริง
การปรับโครงสร้างควรเริ่มตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล แทนที่จะเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลโดยไม่รู้ว่าต้องการนำข้อมูลไปทำอย่างไรต่อ องค์กรควรมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับการเก็บรวบรวมและคาดการณ์ถึงการใช้งานข้อมูลล่วงหน้า โดยเริ่มจากการกำหนดคำถามสำคัญทางธุรกิจ ระบุความท้าทายในการรวบรวม กำหนดวิธีการจัดหา และรักษาข้อมูล รวมไปถึงวิธีการแปลงข้อมูลที่ได้มาให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึก และแม้ว่าการปฏิบัติตามนี้จะทำให้คุณได้ข้อมูลน้อยกว่าปกติ แต่รับรองว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลคุณภาพที่เชื่อถือได้ และนำไปใช้งานจริงได้แน่นอน
2. ทำให้ข้อมูลเข้าถึงง่ายและเรียลไทม์ (Data Access)
ข้อมูลที่องค์กรเก็บรวบรวมไว้จะต้องพร้อมใช้งานและเข้าถึงได้ทันที โดยถูกเก็บอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งาน และสามารถรวมเข้ากับข้อมูลอื่นๆ ได้ เพราะฉะนั้นการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยองค์กรควรเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมในการสืบค้น การกรอง และการจัดกลุ่มข้อมูล เพื่อลดปริมาณข้อมูลดิบ และทำให้การรายงานและการวิเคราะห์มีประสิทธิภาพ ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกและทันท่วงทีจะช่วยให้พนักงานประหยัดเวลาในการทำงานมากยิ่งขึ้น พวกเขาสามารถมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและสมบูรณ์ และสามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างมีเหตุผล แทนที่จะใช้เวลาไปกับการเตรียมข้อมูล
3. ทุกคนในองค์กรมีอิสรภาพในการมองเห็นและใช้ข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด (Data Democratization)
การแยกเก็บข้อมูลเฉพาะภายในทีมหรือแชร์ให้เฉพาะนักวิเคราะห์และทีมเทคนิคขั้นสูง ทำให้การเข้าถึงและใช้งานข้อมูลต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพ องค์กรจึงควรสร้างและเผยแพร่วัฒนธรรมการแบ่งปันข้อมูลภายในองค์กรเพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถมองเห็น เข้าถึง และรวมข้อมูลเข้าด้วยกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องปรึกษาหรือขออนุญาตจากนักวิเคราะห์ข้อมูลในแผนกไอที ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ข้อมูลมีภาระในการทำงานมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และเกิดความล่าช้าจาการรอนำข้อมูลไปใช้ตัดสินใจ
4. การรายงานและแจ้งเตือนคือสิ่งจำเป็น แต่การวิเคราะห์คือสิ่งสำคัญ (Reporting and Alerting is essential. But analysis is important.)
การรายงานและการแจ้งเตือนเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในทุกๆ องค์กร เนื่องจากการรายงานเป็นกระบวนการจัดระเบียบข้อมูลให้เป็นข้อมูลสรุปเพื่อติดตามประสิทธิภาพและผลลัพธ์ ทำให้สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสังเกตแนวโน้มในอนาคตได้ แต่หากต้องการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลอย่างแท้จริง องค์กรจะต้องสามารถวิเคราะห์และแปลงข้อมูลให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึก เพื่อค้นหาสาเหตุ และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางขององค์กรในอนาคต
สรุป
ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ทำให้แต่ละองค์กรต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้ตนเองอยู่รอด โดยหนึ่งในกลุยุทธ์ที่สำคัญคือการนำ Data Driven มาประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยการนำข้อมูลที่รวบรวมมาผ่านการกลั่นกรองให้บริสุทธ์ ถูกต้อง และเป็นประโยชน์แก่องค์กรมากที่สุด Data Driven จึงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรอย่างแท้จริง
แน่นอนว่าหากมีเฉพาะข้อมูลและความรู้ในการวิเคราะห์แต่ไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสมในการเก็บบันทึกข้อมูล ก็อาจทำให้การปรับเปลี่ยนไปสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นไปได้ยาก True VWORK จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่น่าสนใจ เพราะมีฟังก์ชันที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและเรียลไทม์ รวมไปถึงสามารถสื่อสารภายในทีมได้อย่างไร้รอยต่อ ทำให้การเก็บบันทึกข้อมูล การเข้าถึง และการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ไม่มีสะดุด โดยคุณสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ True VWORK
อ้างอิง