Imposter Sysndrome ภาวะทางใจของคนทำงานจำนวนมากที่แม้จะสร้างผลงานได้ดีแค่ไหน ก็ไม่รู้สึกว่าความสำเร็จนั้นมาจากความสามารถของตัวเอง ทำให้ Self-esteem ของผู้ทำงานลดลงจนอาจส่งผลกระทบต่อ productivity ในการทำงานและก่อเป็นปัญหาอื่นๆ ในที่สุด ซึ่งการจัดการปัญหาดังกล่าวสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการสังเกต 5 สัญญาณ เมื่อคุณกำลังเจอ Imposter Syndrome พร้อมเทคนิคการรับมือ
Table of Contents
รู้จักกับ Imposter Syndrome
Imposter Sysndrome หรือที่รู้จักกันในชื่อ ”โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” เป็นภาวะการขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองและขาดการยอมรับในความสำเร็จที่ตนได้รับ ซึ่งผลการวิจัยจาก American Psychological Association เผยว่ากลุ่มตัวอย่างมากกว่า 70% เคยประสบกับ Imposter Syndrome ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต โดยการปล่อยปะละเลยอาการ Imposter Syndrome ไว้โดยไม่ได้ใส่ใจ อาจส่งผลกระทบต่อทั้งตัวคุณเองและองค์กรในหลายแง่มุม
ผลกระทบต่อตนเอง
- ติดอยู่ใน Comfort Zone เพราะกลัวทำผลงานได้ไม่ดี
- แยกเวลาในการใช้ชีวิตส่วนตัวออกจากเวลาทำงานไม่ได้เพราะต้องทำงานไม่รู้จบสิ้น
- เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลจากความเครียดสะสม
ผลกระทบต่อองค์กร
- Productivity ในการทำงานลดลงเนื่องจากสภาพจิตใจของพนักงานที่ไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง
- บรรยากาศในการทำงานย่ำแย่และเต็มไปด้วยความกดดัน
- องค์กรมีค่าใช้จ่ายด้านพนักงานสูงขึ้นแต่มีวัฒนธรรมองค์กรที่แย่ลง เนื่องจากมีการหมุนเวียนของพนักงานที่ลาออกสูงขึ้น
สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณมีโอกาสเป็น Imposter Syndrome
1. ไม่ยินดีกับความสำเร็จของตนเอง
ทุ่มเทกับงานจนประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่ยินดีกับผลลัพธ์ที่ได้มา รู้สึกว่าความสามารถของตนยังไม่คู่ควรกับความชื่นชมหรือโอกาสที่ได้รับ และคิดว่าคนอื่นๆ ในสังคมดูไม่กังขาในตัวเองและมั่นใจในความสามารถของพวกเขาเหลือเกิน ในขณะที่คุณยังคงเคลือบแคลงในความสามารถของตัวเอง
2. มักคิดว่าความสำเร็จของคุณเกิดจากปัจจัยอื่นมากกว่า
คุณเชื่อว่าความสำเร็จที่ได้รับเกิดจากโชคช่วย ความผิดพลาดของระบบหรือจากข้อได้เปรียบต่างๆ มากกว่าความสามารถของตน รู้สึกกระอักกระอ่วนเหมือนกับว่าตัวเองโกงการแข่งขันจนได้รับชัยชนะมาแม้ว่าความพยายามที่ผ่านมาของคุณจะเด่นชัดแค่ไหนก็ตาม
3. เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ได้ยาก เนื่องจากคิดว่าตนไม่เหมาะ
การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่และการรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นเรื่องยาก แม้จะมีการเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถบรรเทาความวิตกกังวลลงได้ คุณกลัวว่าจะทำสิ่งนั้นได้ไม่ดีเพราะตนไม่เก่งพอและไม่เหมาะสมกับโอกาสที่ได้รับมากเท่าคนอื่นๆ จนไปถึงไม่ยอมขยับขยายเพราะกลัวคนอื่นจะมองว่าตนไม่ได้เก่งทุกเรื่องอย่างที่เห็น
4. คิดเสมอว่าสิ่งที่ตนเองทำ ใครๆ ก็ทำได้
แม้จะประสบความสำเร็จ คุณกลับไม่คิดว่าตนมีความสามารถหรือพิเศษแต่อย่างใด เพราะความสำเร็จนั้นเป็นแค่เรื่องธรรมดาที่ใครก็ทำได้ จนไปถึงคิดว่าหากเป็นคนอื่นที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันก็คงจะทำได้สำเร็จไม่ต่างกัน
5. สิ่งที่ทำไปไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ดีพอ แม้จะได้รับคำชมก็ตาม
คุณมองว่าผลงานที่ได้ส่งมอบไปไม่สมบูรณ์แบบแม้จะได้รับคำชม ต้องพยายามมากกว่านี้เพื่อให้ผลงานออกมาดีมากขึ้นอีกและผลงานตอนนี้ไม่คู่ควรกับคำชมที่ได้รับ
วิธีการรับมือ Imposter Syndrome เบื้องต้น
1. สำรวจว่าคุณ “ไม่เก่งพอ” จริงๆ รึเปล่า
ทบทวนความคิด หยุดเชื่อการใช้ความรู้สึก แล้วหันไปสำรวจข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นจริงอย่างที่ความคิดพาไปหรือไม่ คุณไม่เก่งพอจริงๆ หรือแค่นั่นยังไม่ใช่จุดที่ใช่ คุณมีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไรบ้าง ความพยายามที่ผ่านมาทำให้คุณได้อะไร และก้าวมาได้ไกลขนาดไหน
2. ปรับมุมมองเข้าหา Growth Mindset
ต่อให้คุณยังไม่เก่งพอจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมนุษย์เราสามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพในตัวได้ในทุกวันตราบใดที่คุณยังมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้า โดย Growth Mindset ก็เป็นหนึ่งแนวคิดที่สามารถแทนที่ความรู้สึกด้อยค่าในตนเองให้กลายเป็นแรงผลักดันที่จะช่วยให้คุณรู้ลึก เก่งจริงได้
3. เริ่มทำสิ่งต่างๆ แม้ว่าจะไม่พร้อม
แม้การเริ่มต้นใหม่จะเป็นเรื่องยากและคุณอาจไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ชวนให้รู้สึกปลอดภัยจนรู้สึกว่าต้องทำได้ไม่ดี แต่คนที่ไม่เคยพลาดคือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ความผิดพลาด อุบัติเหตุและโอกาสต่างๆ คือสิ่งที่ทุกคนต้องเจอเป็นเรื่องปกติ การเรียนรู้จากความผิดพลาดและลุกขึ้นใหม่ต่างหากคือสิ่งที่สร้างคนเก่งที่แท้จริง
4. ลดการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากเกินไปคือหนึ่งปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมั่นใจตนเอง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตจะเปรียบเทียบกันและกันเพื่อการอยู่รอด แต่สำหรับมนุษย์ซึ่งมีความถนัดในรายบุคคลที่แตกต่างกันแล้ว การรู้เท่าทันความคิดและความรู้สึกของตัวเองเพื่อไม่ให้สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองไปเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
5. พบจิตแพทย์
หากปัญหาที่เกิดขึ้นจาก Imposter Syndrome กระทบต่อการดำเนินชีวิตจนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง การเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการบำบัดต่างๆ อย่างตรงจุดจากผู้เชี่ยวชาญก็เป็นวิธีที่ดีที่สุด
สรุป
แม้ว่า Imposter Syndrome จะเกิดขึ้นได้กับทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงพนักงานทั่วไป แต่มันก็ไม่ได้ถูกจัดเป็นโรคร้ายหรือความเจ็บป่วยทางจิตใจแต่อย่างใด เป็นเพียงภาวะความเครียดที่ถูกสร้างขึ้นมาในใจซึ่งคุณสามารถรับมือได้ด้วยตัวเองผ่านการปรับ Mindset การอยู่ร่วมกับผู้อื่นและการตกผลึกความคิด
True VWORK ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการทำงานออนไลน์ที่อำนวยความสะดวกให้พนักงานติดต่อสื่อสารและพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น ช่วยทำให้ทุกคนเกิดความเข้าใจกันได้กันได้ดียิ่งขึ้นแม้ทำงานห่างกัน เพื่อสนับสนุนหนทางให้พนักงานทุกคนสามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากคุณสนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ True VWORK