ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ การทำงานเป็นทีมย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การรวมคนมากมายที่แตกต่างกันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงขอนำเสนอ 7 Case Studies ที่น่าสนใจจากบริษัทใหญ่ ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือพนักงานก็สามารถศึกษาและนำไปใช้ได้
Table of Contents
1. เป้าหมาย คือ ปัจจัยสำคัญของคำว่าทีม
อยากให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จได้ องค์กรจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายของทีมให้ชัดเจน ทั้งเป้าหมายในการทำงาน รวมถึงเป้าหมายในการซัพพอร์ตบริษัทด้านอื่นๆ เพื่อทำให้คนในทีมเห็นภาพกว้าง และประโยชน์ในการทำงานตามความรับผิดชอบของตนเองชัดเจนยิ่งขึ้น
Case Study ที่น่าสนใจ: Gojek บริษัทเจ้าของแอปพลิเคชันเรียกรถชื่อดังมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างแบรนด์ว่าต้องการอำนวยความสะดวกให้กับคนในอินโดนีเซีย และในขณะเดียวกันก็อยากแก้ปัญหารถติดภายในประเทศด้วย ทางบริษัทจึงประกาศเป้าหมายดังกล่าวให้คนในทีมรับรู้ร่วมกันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป้าหมายที่ชัดเจนนี้ทำให้ Gojek เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เติบโตได้ท่ามกลางคู่แข่งมากมายในระดับโลก
2. การทำงานเป็นทีมที่ดีไม่จำเป็นต้องใหญ่
ยิ่งบริษัทเติบโตยิ่งต้องมีคนเยอะ แต่การทำงานเป็นทีมอาจไม่จำเป็นต้องใช้คนมากขนาดล้นห้องประชุม การทำงานที่ดีควรมีจำนวนคนที่เหมาะสม และบุคลากรเหล่านั้นควรเป็นคนที่มีบทบาทในการทำงานดังกล่าวจริง ๆ ไม่เช่นนั้นการบริหารจัดการรวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการทำงานต่าง ๆ ก็จะทำได้ยากขึ้นด้วย
Case Study ที่น่าสนใจ: Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับแนวคิดนี้ เห็นได้จากการนำเสนอแนวคิดที่ว่าการทำงานเป็นทีม หรือการประชุมทีมที่ดี ควรมีจำนวนคนให้พอดีกับพิซซ่าสองถาด ไม่จำเป็นต้องมีมากกว่านั้นเพื่อป้องกันการสับสนในคำสั่ง ลดความซับซ้อนในการทำงาน รวมถึงในบางครั้งทีมขนาดเล็กยังทำให้ทุกคนในทีมสามารถแสดงศักยภาพ และนำเสนอความคิดเห็นได้หลากหลาย ช่วยให้ทีมเติบโตอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
3. ประชุมไม่ต้องถี่ การทำงานเป็นทีมที่ดีควรคุยเท่าที่จำเป็น
หนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกับการทำงานเป็นทีมมากที่สุดคือการประชุม พนักงานจำนวนมากพบว่าการประชุมต่าง ๆ มีมากเกินไปจนอาจกระทบกับเวลาในการทำงาน เพราะบางครั้งการประชุมก็กินเวลามากเกินความจำเป็น ซึ่งการทำงานเป็นทีมที่ดีควรกำหนดจำนวนการประชุมให้พอเหมาะ
Case Study ที่น่าสนใจ: Elon Musk ผู้ก่อตั้ง และ CEO ชื่อดังของ SpaceX ได้กำหนดให้พนักงาน “ออกจากห้องประชุม” ได้เลยหากการประชุมนั้นไม่ได้มีส่วนช่วยในการทำงานของตัวเอง พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่พฤติกรรมที่หยาบคาย แต่กลับเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานด้วยซ้ำ และนั่นก็ทำให้ทีมงานของ SpaceX และ Tesla สามารถทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
4. การสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างทีมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก
การเมืองและความขัดแย้งระหว่างบุคลากรเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การทำงานเป็นทีมไม่ก้าวหน้า เพราะในบางครั้งเพียงแค่การ “คุยกันได้” ระหว่างทีมอาจไม่เพียงพอ แต่องค์กรจำเป็นต้องมีการสานสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรให้แน่นแฟ้น เพื่อให้การทำงานทั้งหมดราบรื่นในระยะยาว
Case Study ที่น่าสนใจ: Warby Parker แบรนด์แว่นตาออนไลน์ยอดนิยมจากสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เห็นได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางบริษัทจัดขึ้น เพื่อให้พนักงานเข้าร่วม โดยอ้างอิงจากความสนใจของคนในทีมเป็นหลัก รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานพูดคุยกันมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ในองค์กรแข็งแกร่ง
5. สร้างทีมด้วยจุดเด่น ช่วยทำให้ธุรกิจไปได้ไกลมากขึ้น
เคล็ดลับของการทำงานเป็นทีมที่ดีเกิดจากการเลือกคนที่มีคุณภาพ การสร้างทีมจึงต้องรวบรวมคนที่มีความสามารถตามที่บริษัทต้องการ และกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินเป็นไปได้อย่างราบรื่น
Case Study ที่น่าสนใจ: Google เป็นบริษัทที่มีเอกลักษณ์ในด้านบุคลากรอย่างมาก เพราะสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพในแต่ละด้านเข้ามารวมกัน มีการกำหนดบทบาทของแต่ละตำแหน่งชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับทุก ๆ ความเห็นของคนในทีม ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Google ได้รับการขัดเกลาอย่างพิถีพิถันจากทุกฝ่าย จนกลายเป็น “สิ่งที่ดีที่สุด” สำหรับผู้ใช้งาน
6. ทำงานเป็น “ทีม” ไม่ใช่ครอบครัว
บริษัทไม่น้อยมีการโฆษณาถึงวัฒนธรรมการทำงานแบบครอบครัว ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่ปัจจุบันมีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบวัฒนธรรมดังกล่าว เนื่องจากมีโอกาสที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ และมีเส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับความเป็นส่วนตัวที่คลุมเครือ
Case Study ที่น่าสนใจ: Netflix เป็นบริษัทที่มีแนวคิดเรื่องทีมค่อนข้างโดดเด่น โดยกำหนดอย่างชัดเจนว่าพนักงานคือพนักงาน และพวกเขามีหน้าที่ต้องทำงานเพื่อชัยชนะขององค์กร ทำให้ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็เป็นแรงผลักดันคนในทีมให้ก้าวหน้า และทำให้ Netflix สามารถก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ได้ในเวลาอันสั้น
7. การทำงานเป็นทีมต้องตอบโจทย์ยุคสมัย
เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นทางการ โจทย์ของการทำงานเป็นทีมก็เปลี่ยนไปแล้ว การนั่งล้อมวงเพื่อปรึกษาหารือดูจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปเมื่อการทำงานแบบออนไลน์เข้ามาแทนที่ ด้วยเหตุนี้ การทำงานรูปแบบใหม่อย่างการ Work from Home และ Work from Anywhere จึงกลายเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องขบคิด และหาโซลูชันใหม่เพื่อให้พนักงานทำงานได้ง่าย และสะดวกยิ่งขึ้น
Case Study ที่น่าสนใจ: ทีมงานของ True VWORLD ได้เริ่มเปลี่ยนวิธีการทำงานสู่ Hybrid Working อย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้แพลตฟอร์มการทำงานอย่าง True VWORK และ True VROOM เพื่อติดตามการทำงาน จัดประชุม รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ของคนในทีมให้แน่นแฟ้นขึ้น ทำให้ทีมงานของ True VWORLD สามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะทำงานจากที่ไหนก็ตาม
สรุป
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ 7 Case Studies ที่คุณควรรู้เพื่อการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม แต่อย่าลืมว่าทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น หากคุณต้องการสร้างทีมในรูปแบบของตนเอง ควรทำความเข้าใจ และเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกับบุคลากรและทีมเพราะทุกบริษัทล้วนมีความแตกต่างกันเสมอ
สำหรับบริษัทไหนที่กำลังปรับตัวเพื่อให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกำลังมองหา online meeting tool เพิ่อให้การประชุมออนไลน์มีประสิทธิภาพ True VROOM เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มตัวกลางของการสื่อสารยุคใหม่ที่สามารถตอบโจทย์คุณได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน และกิจกรรมออนไลน์อื่น ๆ