ทุกวันนี้ Design หรือ การออกแบบ ไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กลายเป็นวัตถุที่จับต้องได้เท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์กับกระบวนการคิด เพื่อให้เกิดเป็นการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่สามารถเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาขององค์กรหรือแบรนด์ต่างๆ ได้นับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Airbnb, Oral-B และองค์กรอื่นๆ อีกมากมาย
โดยบทความนี้จะอธิบายความหมายของ Design Thinking พร้อมขั้นตอนการเริ่มลงมือทำและเคล็ดลับเด็ดที่นำไปใช้ได้จริง ถ้าพร้อมแล้ว มาทำความรู้จักกับ Design Thinking กันเลย
Table of Contents
Design Thinking คืออะไร?
Design Thinking คือ กระบวนการคิดที่เน้นการออกแบบสิ่งต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปจนถึงออกแบบสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดผ่านการทำความเข้าใจความต้องการของคนเหล่านั้น
การ Design Thinking จะมุ่งเน้นที่โซลูชันและการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการตั้งคำถามกับสมมติฐาน การทำงานร่วมกัน การระดมสมอง และการสร้างต้นแบบ (Prototype) เพื่อทดสอบแนวคิดและรับคำติชม นอกจากนี้การคิดแบบ Design Thinking ยังสนับสนุนการคิดนอกกรอบ เปิดกว้าง สร้างสรรค์และไร้ขีดจำกัด เพื่อรวบรวมไอเดียใหม่ๆ ทั้งหมดมาพัฒนาหรือแก้ปัญหาที่คนส่วนมากคิดว่าทำไม่ได้
หนึ่งในแบรนด์ที่สามารถใช้ Design Thinking ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังนั่นเอง โดยในช่วงก่อตั้งบริษัท Netflix มีคู่แข่งหลักคือ Blockbuster ซึ่งทำธุรกิจเช่าภาพยนตร์ที่ครองอับดับหนึ่งของโลกมานานถึง 28 ปี โดยลูกค้าที่ต้องการเช่าและคืนภาพยนต์จะต้องเดินทางไปรับหรือคืนดีวีดีที่หน้าร้าน ซึ่งเป็นปัญหาหลักสำหรับหลายๆ คนที่ไม่สะดวกเดินทาง
Netflix ที่มองเห็นและเข้าใจปัญหาดังกล่าวจึงแก้ไขปัญหานั้นด้วยการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถดูภาพยนต์ที่บ้านได้ง่ายๆ โดยการจัดส่งดีวีดีถึงบ้านลูกค้าโดยตรง ผ่านรูปแบบการรับสมัครข้อมูล (Subscription Model) วิธีการนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ปฏิวัติวงการภาพยนตร์เป็นอย่างมาก แต่ Netflix ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น Netflix ได้พัฒนานวัตกรรมต่างๆ โดยเน้นตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ เช่น บริการสตรีมมิ่งแบบออนดีมานด์ (On-Demand Streaming Service) เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถดูภาพยนต์ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องรอการจัดส่งดีวีดีอีกต่อไป เรียกได้ว่า Netflix สามารถนำกระบวนการคิดแบบ Design Thinking มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้ปัจจุบันมีผู้ใช้งานทั่วโลกทั้งสิ้น 223.09 ล้านคน
ทำไม Design Thinking ถึงมีความสำคัญกับ Digital Workplace
ก่อนที่จะทำความเข้าใจว่า Design Thinking มีประโยชน์อย่างไรในการทำงานแบบ Digital Workplace เรามารู้จักกับ Digital Workplace กันก่อนดีกว่าว่า Digital Workplace คืออะไร? เพื่อที่จะได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้มากยิ่งขึ้น
Digital Workplace คือ การทำงานรูปแบบใหม่ที่นำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้งานในทุกขั้นตอน เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยหัวใจหลักของการทำ Digital Workplace คือการที่ทุกคนสามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม เพราะบางครั้งไอเดียเล็กๆ จากพนักงานก็อาจสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่หากองค์กรทอดทิ้งไอเดียนั้นเพียงเพราะส่งเสียงไปไม่ถึงก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเช่นกัน
เพราะฉะนั้นหากนำรูปแบบการคิดแบบ Design Thinking ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการดำเนินการ มารวมกับการทำงานแบบ Digital Workplace ซึ่งเน้นการทำงานที่คล่องตัว ช่วยให้พนักงานทำงานร่วมกันได้ง่าย ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อองค์กร ดังนี้
1. ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน
บริษัทส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญและลงทุนไปกับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเปิดตัวแนวคิด ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่หากลงทุนไปโดยไม่ได้เข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานตั้งแต่แรก ก็อาจทำให้บริษัทไม่ประสบผลสำเร็จได้ เพราะฉะนั้น Design Thinking จึงช่วยลดความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการลงทุนนวัตกรรมผ่านการสร้างตัวต้นแบบ (Prototype) เพื่อให้ผู้ใช้ได้ใช้งาน และองค์กรได้ร่วมเรียนรู้ ทดสอบ และพัฒนาจากความผิดพลาด วิธีนี้จึงช่วยให้องค์กรสามารถเพิ่มอัตราความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนไป (ล้มเหลวบ่อย แต่ประสบความสำเร็จเร็ว)
การนำ Design Thinking มาใช้ในองค์กรส่งผลให้วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนแปลงไปด้วยตัวของมันเอง เนื่องจากการคิดเชิงออกแบบจะทำให้พนักงานได้ทำงานร่วมกัน เคารพความคิดเห็นของกันและกัน เปิดกว้างและแสวงหาไอเดียใหม่ๆ เสมอ เพื่อหาวิธีการที่ดีกว่าและเพื่อให้งานออกมาประสบผลสำเร็จ
Design Thinking ยังมีแนวคิดการสร้างต้นแบบ (Prototype) เพื่อทดสอบว่าสิ่งที่พนักงานคิดนั้นใช้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งนอกจากการสร้าง Prototype จะถือว่าเป็นองค์ประกอบหลักของ Design Thinking แล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม (Culture of Innovation) อีกด้วย พนักงานจะสามารถจำลองแนวคิดใหม่ๆ และเริ่มทดสอบได้ทันทีเพื่อให้เห็นผลลัพธ์และรับคำติชมได้อย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่าพวกเขาอาจจะต้องล้มเหลวบ่อยครั้ง แต่ประสบการณ์เหล่านั้นจะกลายเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ทรงพลัง และเป็นเกราะป้องกันให้พวกเขาไม่กลัวที่จะล้มเหลวอีกต่อไป นำมาซึ่งเส้นทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนและประสบความสำเร็จเร็วกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ
3. สามารถจัดการกับปัญหาที่ไม่ทราบสาเหตุได้เป็นอย่างดี
Design Thinking ช่วยให้สามารถจัดการกับปัญหาที่ไม่ชัดเจนหรือไม่ทราบสาเหตุได้ เนื่องจากองค์กรจะให้ความสำคัญกับผู้ใช้เป็นหลัก และมุ่งเน้นไปที่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ใช้ ทำให้สามารถเข้าใจปัญหาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะสนับสนุนให้ทีม “คิดนอกกรอบ” เพื่อดึงศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานออกมาให้มากที่สุด นำไปสู่การค้นพบวิธีการและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี
เริ่มคิดและลงมือทำ Design Thinking ใน 5 ขั้นตอน
1. Empathize – เข้าใจปัญหาด้วยการตั้งคำถาม
ขั้นตอนแรกของ Design Thinking คือการทำความเข้าใจผู้ใช้งาน โดยคุณจะต้องเป็นคนหูไวตาไว ชอบตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบที่เป็นไอเดียใหม่ๆ โดยการตั้งคำถามควรคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง หลังจากนั้นจึงเริ่มค้นหาคำตอบด้วยการเห็นอกเห็นใจผู้ใช้ คุณอาจจะคอยสังเกตการณ์หรือเอาตนเองไปอยู่ในสถานการณ์นั้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและทำความเข้าใจปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง วิธีการนี้จะทำให้คุณได้ข้อมูลเชิงลึกที่แท้จริง รู้ความต้องการและแรงจูงใจของผู้ใช้ และเข้าใจปัญหาที่เป็นรากฐานของการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คุณต้องการสร้าง
2. Define – กำหนดปัญหาและความต้องการให้ชัดเจน
หลังจากที่รู้ปัญหาอย่างชัดเจนแล้วก็ถึงเวลานำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อคัดกรองและหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง โดยการวิเคราะห์จะต้องยึดหลักผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้มีทิศทางและแนวทางในการปฏิบัติอย่างชัดเจนต่อไป
3. Ideate – ระดมความคิดและค้นหาไอเดียที่เป็นไปได้มากที่สุด
เมื่อเข้าใจความต้องการของผู้ใช้และวิเคราะห์ปัญหาออกมาเป็นข้อสังเกตต่างๆ แล้ว คุณสามารถเริ่มระดมความคิดเห็นกับคนในทีมได้เลย โดยแต่ละคนจะมองปัญหาจากมุมมองที่แตกต่างกัน ทำให้เห็นปัญหาได้รอบด้านและละเอียดมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดการคิดนอกกรอบที่จะช่วยให้ทีมได้ไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา และบางไอเดียอาจช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างรอบคอบอีกด้วย หลังจากนั้นจึงเลือกไอเดียที่น่าทดลอง หรือน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดมาทดสอบจริง
4. Prototype – แปลงไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่าง
ขั้นตอนการสร้าง Prototype หรือตัวต้นแบบ เป็นการนำไอเดียที่ถูกคัดเลือกมาสร้างจริง ก่อนที่จะนำไปทดสอบในขั้นตอนถัดไป ในขั้นตอนนี้ไม่ควรใช้งบประมาณมากเกินไปสำหรับการออกแบบและการผลิต เนื่องจากจุดประสงค์หลักคือการพิสูจน์ว่าไอเดียที่เลือกมานั้นแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ โดยอาจจะทำการทดสอบภายในองค์กร หรือกลุ่มคนเล็กๆ นอกองค์กรก็ได้
5. Test – ทดสอบก่อนนำไปใช้งานจริง
ทดลองนำ Prototype หรือต้นแบบไปใช้จริง โดยในขั้นตอนนี้อาจมีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุง หรือแก้ไขซ้ำหลายรอบ เพื่อรับคำติชม ทำความเข้าใจพฤติกรรม ความคิด และความรู้สึกของผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง รวมไปถึงเพื่อหาไอเดียที่แก้ไขปัญหาได้จริงและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด
Key Takeaways – อย่ายึดติดกับลำดับขั้นตอน
Design Thinking ไม่มีขั้นตอนที่ตายตัว เพราะเป้าหมายของ Design Thinking คือการทำความเข้าใจปัญหาของผู้ใช้ และหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นคุณจึงไม่ควรยึดติดกับการปฏิบัติตามลำดับขั้นตอน 5 ขั้นตอนด้านบน แต่ควรมีความยืดหยุ่น เช่น ภายในทีมอาจทำมากกว่า 1 ขั้นตอนไปพร้อมๆ กัน หรือหากปฏิบัติครบ 5 ขั้นตอนแล้ว ทีมอาจจะได้ผลลัพธ์หรือข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับผู้ใช้ ซึ่งนำไปสู่การระดมสมองอีกครั้ง (Ideate) หรือการพัฒนาต้นแบบใหม่ (Prototype) ทำให้สามารถขยายขอบเขตของโซลูชัน กลายเป็นนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับอุดมคติของผู้ใช้มากที่สุด
สรุป
Design Thinking หรือ การคิดเชิงออกแบบ เป็นกระบวนการคิดที่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้เป็นหลัก ทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างจากแนวคิดนี้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันแนวคิดนี้จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหากองค์กรมีรูปแบบการทำงานแบบ Digital Workplace ที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะการสื่อสารภายในองค์กร
และหากคุณต้องการปรับเปลี่ยนการสื่อสารภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น True VWORK สามารถช่วยคุณได้ โดย True VWORK จะช่วยให้การติดต่อสื่อสารทางไกลเป็นเรื่องง่าย พร้อมทั้งฟีเจอร์มอบหมายและติดตามสถานะการทำงานที่จะทำให้คุณและทีมได้รู้ว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนไหนของการทำ Design Thinking นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ อีกมากมายที่จะช่วยให้คุณและองค์กรทำงานคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยคุณสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ True VWORK