ต้องสัมภาษณ์งานแบบไหนบริษัทจึงจะรับเข้าทำงาน ? ประเด็นนี้เป็นคำถามที่คนจำนวนมากสงสัย แม้ว่าโปรไฟล์ดีหรือมีบุคคลรองรับก็อาจสะดุดได้ เพราะในยุคนี้การทำงานอาจต้องการมากกว่า Hard Skill แต่ต้องมีทักษะในชีวิตประจำวันอย่าง Soft Skill ด้วย
ในวันนี้เราจึงจะพาไปรู้จักหนึ่งในเคล็ดลับการสัมภาษณ์อย่าง STAR Model ตัวช่วยชั้นดีสำหรับการตอบคำถามเพื่อการเข้างาน ช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณได้งานตามที่ต้องการมากขึ้น!!
Table of Contents
รู้จักกับ STAR Model เทคนิคสำคัญในการสัมภาษณ์งาน
การสัมภาษณ์งาน คือ การพูดคุยสอบถามเพื่อที่ทำให้ฝ่ายบุคคลได้รู้จักตัวตนของผู้ที่สมัครเข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่แฝงอยู่ในการสัมภาษณ์หลายครั้งจะเป็นการทดสอบต่างๆ ทั้งการสื่อสาร การแก้ปัญหา ไปจนถึงการพรีเซนต์งาน แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถรับมือกับคำถามประเภทนั้นได้ดี
STAR Model หรือ STAR Technique เป็นโมเดลการตอบคำถามที่ช่วยทำให้การตอบคำถามของคุณกระชับและตรงประเด็นมากขึ้น ใช้สำหรับการตอบคำถามประเภทอธิบายหรือบรรยายสถานการณ์ ซึ่งเป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญเมื่อเข้าสู่การสัมภาษณ์งาน โดยส่วนประกอบของ STAR Model นั้นมีดังต่อไปนี้
- S: Situation สถานการณ์ เลือกสถานการณ์ของเรื่องราวให้เหมาะสม เพราะการระบุเหตุการณ์ต่างๆ เป็นการปูพื้นฐานที่ดีสำหรับการเล่าเรื่อง
- T: Task เป้าหมาย ระบุเป้าหมายสำหรับเรื่องราวดังกล่าว เพื่อบ่งบอกว่าหน้าที่ของเรา ณ เวลานั้นต้องแก้ปัญหาสิ่งใด ทำให้ผู้สัมภาษณ์มองเห็นถึงความท้าทายที่เราต้องเผชิญ
- A: Action การกระทำ บอกว่าเรามีการแก้ปัญหาอย่างไร อธิบายว่าหลังจากเรามีเป้าหมาย เราได้ทำอย่างไรต่อ ควรเป็นการระบุชี้ชัดว่าทำอย่างไร มีการวางแผนอะไรบ้าง เป็นขั้นตอนไป อย่าตอบแค่ว่าเราพยายามหรือทำงานอย่างหนักเพียงอย่างเดียว
- R: Result ผลลัพธ์ อธิบายผลลัพธ์จากการกระทำของเรา ว่าหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวสิ่งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลอย่างไรบ้าง จะดีมากหากคำตอบของเราเป็นสิ่งที่วัดผลได้ และอาจเพิ่มเติมสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการปิดท้าย
ตัวอย่างการตอบคำถามด้วย STAR Model
คำถาม คุณลองยกตัวอย่างการทำงานที่ตัวเองภูมิใจให้เราฟังหน่อย
คำตอบที่อ้างอิง STAR Model ในช่วงที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ทางบริษัทเก่ามีการติดต่อสื่อสารกับลูค้าที่ล่าช้า ทำให้บางครั้งเราสูญเสียรายได้อย่างที่ไม่ควรเป็น (Situation) ทางผมเลยต้องหาทางออกเกี่ยวกับการสื่อสารกับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น (Task) และดำเนินการประชุมกับทีมงานเพื่อใช้ซอฟต์แวร์ CRM (Customer Relationship Management) ควบคู่ไปกับการปรับปรุงตำแหน่ง Admin ประจำ Social Media ของบริษัท (Action) ผลของการแก้ไขปัญหานั้นทำให้เราสามารถรักษาลูกค้าเก่าได้มากกว่าเดิมถึง 50% และมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก 20% (Result)
จะสังเกตได้เลยว่าคำตอบจะมีความกระชับ เข้าถึงประเด็นของคำถามได้รวดเร็ว และมีการอธิบายทุกอย่างอย่างครบถ้วน ไม่เวิ่นเว้อ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสัมภาษณ์ที่อาจมีเวลาจำกัด
คนถามอยากรู้อะไร ? เจาะลึกเพื่อตอบคำถามให้ได้งาน
สิ่งที่ควรสังเกตควบคู่ไปกับการใช้งาน STAR Model คือก่อนตอบคำถามคุณอาจต้องพิจารณาก่อนว่าคนถามกำลังมองหาอะไรจากคุณ เนื่องจากองค์กรในปัจจุบันไม่ได้ต้องการคนที่เก่งเฉพาะสายงานของตนเอง แต่ต้องการคนที่มีคววามสามารถหลากหลายเพียงพอที่จะตอบสนองการเติบโตอันรวดเร็วของโลกอีกด้วย โดยเบื้องต้นคำถามของการสัมภาษณ์มักมีจุดประสงค์ดังนี้
1. ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ผู้ถูกสัมภาษณ์สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นกะทันหันได้ดีแค่ไหน ซึ่งอาจมาในรูปแบบของคำถามจิตวิทยา การตั้งโจทย์การทำงานให้ลองแก้ไข หากเจอคำถามประเภท “คุณจะทำอย่างไร” ควรคาดเดาไว้เลยว่าเขาต้องการทดสอบความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของคุณ
2. ความสามารถในการสื่อสารกับผู้คน
องค์กรแต่ละที่มักมีวัฒนธรรมแตกต่างกันออกไป และบทสัมภาษณ์ก็มักมีการหยั่งเชิงในส่วนนี้อยู่เสมอ บางองค์กรก็มีการดึงคนจากตำแหน่งใกล้เคียงกับที่เราสมัคร ไปจนถึงสมาชิกในทีมมานั่งร่วมการสัมภาษณ์ด้วย
3. ความสามารถเฉพาะด้านสำหรับสายงานต่างๆ
คำถามนี้มักเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตำแหน่ง ข้อมูลใน Resume และ Portfolio โดยผู้สัมภาษณ์อาจใช้คำถามเชิงวิชาการถามมาแบบตรงๆ เพื่อวัด Hard Skill ซึ่งในบางบริษัทจะมีแบบทดสอบให้ทำควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์ ดังนั้นหากตอบอะไรไปควรมี “เหตุผล” สำหรับคำตอบดังกล่าวด้วยเพื่อรองรับคำถามที่จะตามมา
4. ความสามารถสอดคล้องกับเงินเดือน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับเงินเป็นหลัก ที่ทั้งตัวผู้สัมภาษณ์และองค์กรต่างต้องประเมินความสามารถของพนักงานให้สอดคล้องกับเงินเดือนที่ได้รับ ดังนั้นคำถาม “คุณต้องการเงินเดือนเท่าไร” มักมาพร้อมกับคำถามเกี่ยวกับอายุงานอยู่เสมอ
5. คำถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในช่วงปลายการสัมภาษณ์ มักเป็นการชวนคุยเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการถามคำถามย้ำว่า “มีอะไรอยากสอบถามเพิ่มเติมไหม” ซึ่งสิ่งเหล่านั้นบางส่วนก็เป็นการทดสอบทัศนคติ ไปจนถึงความกล้าแสดงออกของผู้ถูกสัมภาษณ์ ดังนั้นอย่าเผลอลืมตัวพูดออกนอกประเด็นหรือตัดบทไปเสียทีเดียว อาจใช้วิธีการพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในบริษัทก่อนจบการสัมภาษณ์จะเป็นตัวเลือกที่ทำให้คุณดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
การเตรียมสัมภาษณ์อย่างมืออาชีพ
1. ตรวจสอบความต้องการขั้นต้นของสายงาน
ในส่วนนี้เป็นสิ่งที่ผู้สมัครจำเป็นต้องตรวจสอบก่อนสมัครงาน แต่สำหรับคนที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ หรือคนที่ต้องการทำงานนอกสายงาน อาจต้องมีการเตรียมตัวเพิ่ม เช่น การเรียนคอร์สออนไลน์ การฝึกงานต่างๆ เพื่อทำให้มีใบรับรองความสามารถและความรู้เพียงพอสำหรับการสัมภาษณ์
2. การเตรียม Resume และ Portfolio เบื้องต้น
การเตรียม Resume และ Portfolio ควรมีการนำเสนอข้อมูลให้ตอบโจทย์กับสายงานต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของความสามารถ เช่น งาน Marketing คุณจำเป็นต้องนำเสนอในส่วนของการตลาดเป็นหลัก
3. ซ้อมสัมภาษณ์งานจริง
สำหรับคนที่ไม่เคยสัมภาษณ์มาก่อน ขอแนะนำว่าควรลองซ้อมตอบคำถามการสัมภาษณ์ อาจใช้กระจก เพื่อน หรือคนในครอบครัวมาสมมติ เพื่อลดความตื่นเต้นในการสัมภาษณ์จริง
สรุป
STAR Model เป็นอีกหนึ่งโมเดลการตอบคำถามสำหรับสัมภาษณ์งานเพื่อทำให้ตอบคำถามได้กระชับ สมเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น แม้แต่คนสัมภาษณ์เองก็ยังสามารถใช้โมเดลนี้เพื่อตั้งคำถามหรือประเมินการตอบคำถามของผู้ถูกสัมภาษณ์ได้อีกด้วย
แน่นอนว่าการสัมภาษณ์ย่อมต้องใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ รองรับการพูดคุยได้อย่างลื่นไหล True VROOM เป็นแพลตฟอร์การประชุมที่น่าสนใจซึ่งกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้คุณสามารถพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับทั้งการสัมภาษณ์และการทำงานในองค์กร ตอบโจทย์การทำงานของคนรุ่นใหม่ สามารถดูรายละเอียดต่าง ๆ และทดลองใช้งานได้ฟรีที่ True VROOM
อ้างอิง